การใช้ชีวิตกับการรักษาด้วยการกระตุ้นไขสันหลัง

SCS หรือ การกระตุ้นประสาทไขสันหลัง จะช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังที่การรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทำให้คุณสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  หลังจากที่ได้ฝังเครื่องกระตุ้นไขสันหลังแล้ว

  • หลังจากสวมเสื้อผ้าแล้วไม่สามารถสังเกตเห็นตัวเครื่องได้
  • อาจรู้สึกนูนใต้ผิวหนัง
  • สามารถปรับค่าการกระตุ้นได้  โดยใช้เครื่องปรับโปรแกรมแบบพกพา

เครื่องกระตุ้นบางรุ่นมีเทคโนโลยีที่สามารถปรับระดับการกระตุ้นได้อัตโนมัติ เพื่อลดอาการปวดให้มากที่สุด  เมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนอิริยาบถท่าทางการเคลื่อนไหว กลุ่มโปรแกรมก็จะปรับเปลี่ยนค่ากระตุ้นตามที่ได้ตั้งค่าไว้  โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เครื่องควบคุมแบบพกพา  ทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องกังวลกับอาการปวดที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เช่น ช่วงที่ผู้ป่วยเปลี่ยนท่านั่งเป็นท่านอน เป็นต้น

การรักษาอาการปวดจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย ในการเรียนรู้การใช้เครื่องควบคุมแบบพกพา และคุณอาจจำเป็นต้องใช้การรักษาแบบอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับตัวคุณเอง

*ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์และให้ดูฉลากผลิตภัณฑ์สำหรับอ่านรายละเอียดเงื่อนไขทั้งหมด

การเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI)

หลังจากใส่เครื่องกระตุ้นไขสันหลัง

ในอนาคต คุณอาจต้องได้รับการตรวจ เอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อวินิจฉัยโรค  อ้างอิงจากข้อมูลพบว่า ประมาณ 82% ของผู้ป่วยที่ทำการฝังระบบกระตุ้นไขสันหลัง (SCS) จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไออย่างน้อย

หนึ่งครั้งภายใน 5 ปี แต่หลังจากที่คุณทำการฝังอุปกรณ์กระตุ้นไขสันหลังแล้ว คุณจะต้องระมัดระวังในการตรวจเอ็มอาร์ไอแต่สำหรับเครื่องบางรุ่นคุณจะสามารถเข้ารับการวินิจฉัยด้วยเอ็มอาร์ไอได้อย่างปลอดภัยเมื่อได้ทำการตั้งค่าระบบเพื่อความปลอดภัยอย่างเหมาะสมแล้ว

ระบบเครื่องกระตุ้นไขสันหลังบางรุ่น  จะมีเทคโนโลยีที่พัฒนามาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยด้วยเอ็มอาร์ไอได้ทั่วร่างกาย   โดยไม่มีข้อจำกัดด้วยเอ็มอาร์ไอในโหมดปกติเช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอุปกรณ์ใดๆ ฝังอยู่   ในขณะที่เครื่องบางรุ่นอาจมีข้อจำกัดในการใช้พลังงานเอ็มอาร์ไอหรือรวมถึงบริเวณที่สามารถสแกนตรวจได้ ทำให้ไม่สามารถดูภาพในอวัยวะบางส่วน เช่น หัวไหล่ หรือ อวัยวะที่มีความสำคัญบริเวณลำตัว

ก่อนเข้าตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI)

ก่อนเข้ารับการตรวจสแกนด้วยเอ็มอาร์ไอ ควรปรึกษาแพทย์ของท่าน  เพื่อช่วยตรวจสอบว่ารุ่นของท่านสามารถเข้ารับการสแกนได้อย่างปลอดภัยในทุกส่วนของร่างกายหรือสแกนได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

  1. แจ้งแพทย์ที่ดูแลเรื่องการสแกนเอ็มอาร์ไอว่า คุณมีเครื่องกระตุ้นระบบประสาทอยู่
  2. ติดต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวด  เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการเข้าตรวจเอ็มอาร์ไอดังกล่าว  โดยแพทย์อาจเตรียมสำเนาแบบฟอร์มรับรองผู้ป่วยเพื่อเข้าตรวจเอ็มอาร์ไอให้คุณหรือรังสีแพทย์ เพื่อเป็นข้อมูลให้รังสีแพทย์ยืนยันว่า คุณสามารถเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอได้
  3. เมื่อทำการนัดหมายวันเข้ารับการตรวจเอ็มอาร์ไอ คุณจะต้องแจ้งหมายเลขรุ่นของอุปกรณ์กระตุ้นระบบประสาทและข้อมูลติดต่อของแพทย์ผู้ดูแลเครื่องกระตุ้นไขสันหลังของคุณแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะถูกระบุไว้ในบัตรประจำตัวคนไข้ที่ใส่เครื่องและแบบฟอร์มรับรองผู้ป่วยเพื่อเข้าตรวจเอ็มอาร์ไอ

บัตรประจำตัวผู้ป่วย

ปัจจัยที่มีผลต่อความปลอดภัยในการตรวจสแกนด้วยเอ็มอาร์ไอ ได้แก่

  • ส่วนของร่างกายที่จะได้รับการสแกน
  • รุ่นของเครื่องกระตุ้นไขสันหลัง
  • รุ่นของสายนำไฟฟ้า
  • ตำแหน่งของสายนำไฟฟ้าในร่างกาย
  • อุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดอื่นที่ฝังอยู่ในร่างกาย
  • ประเภทของเครื่องเอ็มอาร์ไอ

โปรดพกบัตรประจำตัวผู้ป่วยที่ทางบริษัทผู้ผลิตมอบให้อยู่เสมอ ซึ่งในบัตรจะประกอบไปด้วยหมายเลขรุ่นของเครื่องกระตุ้นไขสันหลัง  ระบุโรงพยาบาล และแพทย์ผู้ทำการรักษา

  

 

*ไม่ควรใช้ข้อมูลนี้ทดแทนการปรึกษาแพทย์ ดังนั้น โปรดติดต่อปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อมูลการวินิจฉัยและการรักษาโรคทุกครั้ง