คำถามที่พบบ่อย
การฝังเครื่องให้ยาลดเกร็งทางไขสันหลัง (ITB)
สำหรับภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรง
คำถาม: ยาบาโคลเฟน คืออะไร
ตอบ: ยาบาโคลเฟน คือยาที่มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและลดอาการหดเกร็ง ที่มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรงที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือภาวะอื่นๆ ของสมองหรือไขสันหลัง
คำถาม: อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรงคืออะไร
ตอบ: อาการกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรงคือภาวะที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือโรคทางสมองหรือไขสันหลัง ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการหดเกร็ง แข็งตัว และทำให้เคลื่อนไหวยาก การที่กล้ามเนื้อแข็งตัวจะทำให้รู้สึกเหมือนกำลังถูกล็อคกล้ามเนื้อไว้หรือควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้เมื่อพยายามจะใช้มัน
คำถาม: การรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) เพื่อลดอาการเกร็งคืออะไร
ตอบ: การรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) คือ การรักษาโดยการใช้ยาบาโคลเฟนเข้าไปทางน้ำที่หล่อเลี้ยงไขสันหลัง (เยื้อหุ้มไขสันหลัง) เพื่อจัดการกับภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรง สำหรับการรักษาระยะยาว ยาจะถูกใส่เข้าไปในปั๊มจ่ายยาที่ถูกฝังใต้ผิวหนังหน้าท้อง โดยตัวปั๊มจะนำส่งยาผ่านท่อนำยาขนาดเล็กเข้าไปในน้ำไขสันหลัง โดยแพทย์จะสามารถตั้งโปรแกรมให้ปั๊มจ่ายยาในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวันให้กับคนไข้ได้ โดยก่อนที่คนไข้จะได้รับการพิจารณาได้รับการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) เพื่อลดอาการเกร็ง คนไข้ต้องได้รับขนาดยาทดสอบเพื่อดูว่า การตอบสนองต่อยาของคนไข้เป็นอย่างไร หลังจากทำการทดสอบขนาดยา แพทย์จะให้คำปรึกษาและพิจารณาร่วมกับคนไข้ว่าคนไข้เหมาะสมในการรับการรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) หรือไม่
คำถาม: ผู้ป่วยประเภทไหนที่เหมาะสมต่อการรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) เพื่อลดอาการเกร็ง
ตอบ: ผู้ที่มีอาการเกร็งอย่างรุนแรงจากสภาวะของสมองหรือไขสันหลัง (เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง สมองพิการ โรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บของสมอง หรือไขสันหลัง) อาจเป็นผู้ที่เหมาะสมในการเข้ารับการรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) หากอาการเกร็งของคุณเกิดจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลังหรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และไม่สามารถบรรเทาอาการได้เพียงพอด้วยยาบาโคลเฟนชนิดรับประทานหรือมีผลข้างเคียงที่ไม่สามารถทนได้ คุณอาจเป็นผู้ที่เหมาะกับการรักษาชนิดนี้ หากคุณได้รับบาดเจ็บที่สมอง คุณควรรอเป็นเวลา 1 ปีหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อรับการพิจารณาการรักษาด้วย ITB ความปลอดภัยและประสิทธิภาพในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปียังไม่ได้รับการยืนยัน
คำถาม: ผู้ป่วยประเภทไหนที่ไม่เหมาะสมกับการรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) หรือการทดสอบเพื่อคัดกรอง
ตอบ: หากคุณมีอาการแพ้ยาบาโคลเฟน คุณไม่ควรรับการรักษาด้วยยาบาโคลเฟน หากในขณะนั้นคุณมีภาวะติดเชื้อ คุณไม่ควรทำการตรวจคัดกรองหรือฝังอุปกรณ์จนกว่าอาการติดเชื้อจะหายดี และหากคุณมีขนาดตัวที่เล็กเกินไปที่จะฝังอุปกรณ์ คุณจะไม่สามารถรับการรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) เพื่อลดอาการเกร็งได้
คำถาม: ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดของยาบาโคลเฟน คืออะไร
ตอบ: ผลข้างเคียงของยาบาโคลเฟน อาจรวมถึงอาการง่วงนอน หน้ามืด วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตต่ำ ปวดศีรษะ ชัก และกล้ามเนื้อคลายตัว รวมถึงมีรายงานเรื่องสมรรถภาพทางเพศลดลงในทั้งผู้ชายและผู้หญิง
คำถาม: ฉันต้องรู้อะไรบ้างหากใช้ยาบาโคลเฟน
ตอบ: ผู้ป่วยและผู้ดูแลทุกคนควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการรักษา แพทย์ของคุณจะเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาณและอาการของการได้รับยามากเกินไปหรือน้อยเกินไป (ได้รับยาเกินขนาดหรือขาดยา) และควรทำอย่างไรหากคุณสังเกตเห็นอาการเหล่านี้
คำถาม: สัญญาณของการขาดยาบาโคลเฟน มีอะไรบ้าง
ตอบ: อาการเกร็งที่เพิ่มขึ้น อาการคัน ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม และมีอาการเหน็บชา เป็นสัญญาณที่พบบ่อยที่สุดเมื่อขาดยาบาโคลเฟน ในบางกรณีอาการขาดยาอย่างรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงมีไข้สูง สถานะทางจิตเปลี่ยนไป การเกร็งที่มีความรุนแรงมากกว่าก่อนเริ่มใช้ยา และอาจมีอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หากคุณมีอาการเหล่านี้ สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือคุณหรือผู้ดูแลต้องติดต่อแพทย์ทันที หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดภาวะที่รุนแรงขึ้นซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
คำถาม: ควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการขาดหรือหยุดยาบาโคลเฟนอย่างกะทันหัน
ตอบ: เป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณจะต้องไปเติมยาตามนัดหมาย หากคุณวางแผนจะเดินทาง คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อกำหนดเวลาการเติมยาเพื่อไม่ให้ยาหมด หากคุณเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยเหตุผลใดก็ตามใกล้เคียงกับเวลาที่คุณมีนัดหมาย คุณหรือผู้ดูแลควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนวันที่ต้องเติมยา เพื่อจะได้เตรียมการเติมยาให้คุณล่วงหน้าได้ เนื่องจากไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่สามารถเติมยาเข้าอุปกรณ์ได้ ดังนั้นคุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็วที่สุดหากใกล้ถึงวันนัดหมาย นอกจากนี้คุณควรทราบว่า เสียงเตือนของปั๊มจ่ายยาเป็นอย่างไร และติดต่อแพทย์ทันทีเมื่อคุณได้ยินเสียงเตือน
คำถาม: สัญญาณของการใช้ยาบาโคลเฟนเกินขนาดมีอะไรบ้าง
ตอบ: สัญญาณของการได้รับยาเกินขนาดอาจปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปภายในสองสามวัน สัญญาณอาจรวมถึงกล้ามเนื้อที่คลายมากจนเกินไป อาการง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ง่วงนอนผิดปกติ หายใจช้าหรือตื้น อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ เกิดอาการชัก หมดสติ และโคม่า เป็นสิ่งสำคัญมากที่คุณหรือผู้ดูแลต้องติดต่อแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการเหล่านี้และให้นำคุณส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา
คำถาม: ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นการใส่ปั๊มจ่ายยาและท่อนำยาคืออะไร?
ตอบ: ปั๊มจ่ายยาและท่อนำยาจะถูกฝังไว้ใต้ผิวหนังหน้าท้องระหว่างการผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่คุณอาจประสบกับการผ่าตัด ได้แก่ การติดเชื้อ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (การติดเชื้อของเยื่อบุสมองและระบบประสาทส่วนกลาง) น้ำไขสันหลังรั่ว อัมพาต ปวดศีรษะ บวม เลือดออก และฟกช้ำ
คำถาม: ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับปั๊มและท่อนำยาที่อาจเกิดขึ้นหลังฝังอุปกรณ์คืออะไร
ตอบ: เมื่อฝังปั๊มจ่ายยาแล้ว (ปั๊มและท่อนำยา) อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของอุปกรณ์ที่อาจต้องผ่าตัดเพื่อถอดหรือเปลี่ยนปั๊มจ่าย ท่อนำยาหรือชิ้นส่วนของท่อนำยา ภาวะแทรกซ้อนบางอย่างของอุปกรณ์เหล่านี้อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของยา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการจากการใช้ยาเกินขนาดหรือการขาดยาบาโคลเฟนได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบภายในอุปกรณ์ขัดข้อง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการรักษาหรือไม่สามารถตั้งโปรแกรมปั๊มเพื่อจ่ายได้ นอกจากนี้ ปั๊มจ่ายยา ท่อนำยา หรือชิ้นส่วนท่อนำยาอาจเคลื่อนตัวภายในร่างกายหรือทะลุออกทางผิวหนัง เนื้อเยื่อหรือก้อนเนื้ออักเสบอาจก่อตัวที่ส่วนปลายของท่อนำยาในช่องไขสันหลัง และอาจทำให้สูญเสียการรักษาหรือความบกพร่องทางระบบประสาทรวมถึงอัมพาต ท่อนำยาอาจรั่ว ฉีกขาดหรือขาดการเชื่อมต่อ ส่งผลให้ยาส่งไปยังบริเวณใต้ผิวหนังที่ปั๊มฝังและ/หรือไปตามเส้นทางท่อนำยา ท่อนำยาอาจหงิกงอหรืออุดตันทำให้ไม่สามารถให้ยาได้ ปั๊มอาจหยุดทำงานเนื่องจากแบตเตอรี่หมดหรือมีปัญหากับชิ้นส่วนภายในอย่างน้อยหนึ่งชิ้น ข้อผิดพลาดในการระบุตำแหน่งปั๊มระหว่างขั้นตอนการเติมอาจส่งผลให้เกิดอาการของการใช้ยาเกินขนาดซึ่งอาจร้ายแรงหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
คำถาม: สามารถเข้ารับการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) ได้หรือไม่
ตอบ: ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ผู้ป่วยสามารถสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI) กับอุปกรณ์ได้ แต่คุณจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่า คุณมีระบบการให้ยาฝังอยู่ก่อนทำการดำเนินขั้นตอนทางการแพทย์หรือการวินิจฉัยใด ๆ เช่น การสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือการวินิจฉัยโดยใช้ความร้อนหรือคลื่นต่างๆ โปรดสอบถามแพทย์เพื่อตรวจสอบว่า สามารถใช้การสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI) กับปั๊มได้หรือไม่ การเข้าตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) จะทำให้ปั๊มจ่ายยาหยุดทำงานชั่วคราว ซึ่งจะหยุดจ่ายยาระหว่างทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) และควรกลับมาทำงานตามปกติหลังตรวจเสร็จแล้ว ซึ่งอาจส่งเสียงเตือนชั่วคราวระหว่างการสแกนและควรหยุดเมื่อสิ้นสุดการสแกน หลังจากทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) แล้ว แพทย์ควรตรวจสอบอุปกรณ์ว่า ทำงานเป็นปกติหรือไม่
ข้อมูลความเสี่ยงที่ให้ไว้ที่นี่ไม่ครอบคลุม หากต้องการเรียนรู้เพิ่มเติม ให้สอบถามเรื่องการรักษาโดยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) เพื่อลดอาการเกร็งและยากับแพทย์ของคุณ และดูฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา
การทดสอบการรักษาเพื่อคัดกรอง
ขั้นตอนแรกคือนัดประเมินเพื่อดูว่า การรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) เหมาะที่จะเป็นทางเลือกสำหรับคุณหรือไม่
การฝังอุปกรณ์
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการฝังปั๊มและระยะเวลาของขั้นตอนการติดตั้ง