การปรับและตั้งค่าโปรแกรม

การฝังเครื่องให้ยาลดเกร็งทางไขสันหลัง (ITB)
สำหรับภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรง

เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

แพทย์จะตั้งโปรแกรมเพื่อจ่ายยาจากปั๊มจ่ายยาบาโคลเฟนในปริมาณและเวลาที่เหมาะสมให้กับคุณโดยเฉพาะ ดังนั้น คุณจะต้องแจ้งแพทย์ของคุณว่า การรักษาเป็นไปได้ด้วยดีหรือช่วยให้อาการของคุณดีขึ้นตามที่คาดไว้หรือไม่

การปรับขนาดยา

เมื่อคุณเริ่มการรักษาแล้ว ตัวปั๊มจะถูกตั้งโปรแกรมเพื่อจ่ายยาในปริมาณที่คงที่ตลอดวัน ในช่วงสัปดาห์หรือเดือนแรก แพทย์ของคุณอาจจะปรับปริมาณยาเป็นระยะ จนกว่าจะได้ปริมาณยาที่เหมาะสมสำหรับคุณ

ในภายหลัง หากอาการหดเกร็งกล้ามเนื้อรุนแรงขึ้นหรือมีเป้าหมายใหม่ในการรักษา แพทย์ของคุณสามารถปรับปริมาณการจ่ายยาได้ ดังนั้นคุณต้องแจ้งแพทย์ของคุณเมื่อคุณไม่พอใจในผลลัพธ์ของการรักษาและสิ่งที่คุณต้องการให้ปรับปรุง

การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีการติดตามผล

การจัดการกับอุปกรณ์

เครื่องให้ยาลดเกร็งทางไขสันหลัง (ITB)
สำหรับภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรง

การเติมยาเข้าปั๊ม

หนึ่งในหน้าที่ที่สำคัญที่สุดระหว่างการรักษาก็คือต้องแน่ใจว่ายาบาโคลเฟน ภายในปั๊มไม่หมด วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลเรื่องนี้คือการไปตามนัดของแพทย์ทุกครั้งเพื่อเติมยา

ไปตามนัดเสมอ

ยาจะต้องถูกเติมให้ตรงเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การบำบัดสูญเสียประสิทธิภาพจนอาจเกิดอาการฉุกเฉินวิกฤตที่อาจเป็นอันตรายถึง ชีวิต คุณจำเป็นต้องมีปริมาณยาบาโคลเฟนที่เพียงพอเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

การขาดนัดเติมยาอาจส่งผลดังต่อไปนี้:

  • สูญเสียประสิทธิภาพหรือการเปลี่ยนแปลงในการรักษาที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้
  • การได้ยาน้อยกว่าปริมาณที่กำหนดอาจนำไปสู่อาการขาดยาได้
  • ทำให้ปั๊มจ่ายยาเสียหาย อาจต้องทำการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนตัวปั๊มใหม่

ต้องเติมยาบ่อยแค่ไหน

โดยทั่วไปผู้ป่วยต้องไปเติมยาทุกๆ 2-3 เดือน ซึ่งแพทย์จะนัดหมายการเติมยาครั้งต่อไปโดยยึดการคำนวณและการตั้งโปรแกรมเป็นหลัก แต่ถ้าหากการเดินทางและสภาพอากาศทำให้คุณไม่สามารถมาตามนัดหมายได้ คุณสามารถพูดคุยกับแพทย์เพื่อขอเติมยาล่วงหน้าก่อนวันนัดหมายได้ นอกจากนี้ก่อนเดินทางไกล คุณควรนัดแพทย์เพื่อเติมยาให้เพียงพอก่อนออกเดินทาง

สัญญาณเตือนของปั๊ม

ปั๊มจ่ายยาจะส่งเสียงเตือนเมื่อตัวอุปกรณ์มีปัญหา ซึ่งอาจต้องทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่หรือเติมยาบาโคลเฟน

จดจำเสียงเตือน

เสียงเตือนจากปั๊มจ่ายยาอาจจะเสียงเงียบกว่าเสียงที่ได้ยินจากคอมพิวเตอร์

ในการนัดตรวจ ควรขอให้แพทย์ตั้งโปรแกรมปั๊มของคุณให้ส่งเสียงเตือนชั่วคราว เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าเสียงนั้นเป็นอย่างไร

หากคุณเป็นผู้บกพร่องทางการได้ยิน คุณจะต้องขอให้คนในครอบครัวช่วยฟังเสียงเตือนจากอุปกรณ์ และต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า คุณมีปัญหาเรื่องการได้ยิน

เสียงเตือนจากเครื่องจะดังจนกว่าแพทย์ของคุณจะปิดสัญญาณเตือนผ่านอุปกรณ์ที่ตั้งโปรแกรม

การเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่

อุปกรณ์ปั๊มจ่ายยาสามารถมีอายุการใช้งานได้นานถึง 7 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่จ่ายในแต่ละวัน แพทย์ของคุณจะตรวจสอบการทำงานและอายุของแบตเตอรี่ทุกครั้งที่คุณไปนัดหมายเพื่อเติมยา

สัญญาณเตือนเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่

เมื่อปั๊มจ่ายยาใกล้หมดอายุการใช้งานแล้ว มันจะเริ่มส่งเสียงบี๊บ 1 ครั้งเป็นระยะ ให้คุณติดต่อแพทย์เพื่อขอเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่

ถ้าปั๊มจ่ายยาไม่ได้รับการเปลี่ยนหลังจากที่อุปกรณ์ส่งเสียงบี๊บ 1 ครั้งแล้ว เครื่องจะยังคงทำงานต่อถึง 90 วัน จากนั้น เสียงเตือนภาวะวิกฤตก็จะเริ่มดัง (ดังสองครั้ง) และปั๊มจ่ายยาจะหยุดทำงาน ซึ่งจะทำให้สูญเสียการบำบัดที่อาจนำไปสู่อันตรายจากการขาดยาบาโคลเฟน

การเปลี่ยนท่อนำยา

แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาหากคุณจำเป็นต้องเปลี่ยนท่อนำยาใหม่ บางครั้งท่อนำยาก็อยู่กับที่และสามารถเชื่อมต่อกับปั๊มจ่ายยาตัวใหม่ได้