การทดสอบการรักษา
กระบวนการประเมินผู้ป่วย
ฉันเหมาะที่จะได้รับการรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) เพื่อลดอาการเกร็งหรือไม่
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะเป็นผู้ให้คำแนะนำแผนการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยประเมินจากอาการของผู้ป่วย
คุณอาจได้รับการพิจารณาสำหรับการรักษาด้วยด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางไขสันหลัง (ITB) หากคุณเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งรุนแรงร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง การกระตุกของกล้ามเนื้อหรืออาการปวด โดยอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย และการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย
- ไม่ใช่ผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายหรือแพ้ยากลุ่มบาโคลเฟน
- ตอบสนองต่อยาบาโคลเฟนได้ดี
- ต้องไม่มีภาวะติดเชื้อ
- ร่างกายต้องมีขนาดใหญ่มากพอที่จะฝั่งปั๊มจ่ายยาได้
- หากคุณเคยมีการบาดเจ็บที่สมอง คุณจะต้องรออย่างน้อย 1 ปี
- การรับประทานยาบาโคลเฟนไม่สามารถบรรเทาอาการได้ดีเท่าที่ควรหรือมีผลข้างเคียงจากยาเช่น อาการเหนื่อยล้าหรือท้องผูก
เมื่อคุณได้รับการพิจารณาเป็นผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาด้วยยาบาโคลเฟนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจคัดกรองเพื่อดูว่าการรักษาด้วยการฝังปั๊มให้ยาบาโคลเฟนทางช่องไขสันหลังเหมาะสำหรับคุณหรือไม่
ขั้นตอนการทดสอบ
ในการทดสอบผู้ป่วยจะได้รับยาบาโคลเฟนที่มีปริมาณเล็กน้อยชั่วคราวและแพทย์จะประเมินอาการของผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อยา โดยมีการทดสอบดังนี้
แพทย์จะทำการฉีดยาบาโคลเฟนเข้าไปที่ช่องไขสันหลัง เพื่อทดสอบการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โดยจะใช้เวลาในการทดสอบอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง
ลักษณะการตอบสนองต่อยา อาจเห็นผลในการลดอาการเกร็งได้ภายใน 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และโดยทั่วไปยาจะออกฤทธิ์อยู่นาน 4-8 ชั่วโมง หลังจากยาหมดฤทธิ์ อาการปวดเกร็งดังกล่าวก็จะกลับมาปวดเท่าเดิม
ผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการทดสอบ เช่น กล้ามเนื้อคลายตัว คลื่นไส้/อาเจียน ง่วงนอน ปวดศีรษะ และวิงเวียนศีรษะ เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแจ้งแพทย์ทันที หากมีอาการดังกล่าวในระหว่างการทดสอบ อย่างไรก็ตามการทดสอบเพื่อคัดกรองผู้ป่วยไม่ควรทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะติดเชื้อ หรือมีประวัติการแพ้ยากลุ่มบาโคลเฟน
ผลการทดสอบ
แพทย์ทำการประเมินผลการทดสอบ ว่าสามารถช่วยลดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งและช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วยดีขึ้นได้เพียงใด
ระหว่างการทดสอบกล้ามเนื้อของคุณอาจมีการคลายเพียงเล็กน้อย หรืออาจคลายมากจนเกิดอ่อนแรง ซึ่งนั่นแสดงว่ามีอาการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาบาโคลเฟน
ระหว่างการรักษา อาจมีการปรับปริมาณยา เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้การทำกายภาพบำบัดก็สามารถช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นได้
ผู้ป่วยบางราย อาจไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยปริมาณยาที่ได้รับในครั้งแรก แพทย์อาจพิจารณานัดผู้ป่วยทดสอบใหม่โดยเพิ่มปริมาณยาในครั้งถัดไป หากผลการทดสอบพบว่าไม่สามารถคลายกล้ามเนื้อของผู้ป่วยได้เลย แสดงว่าการใช้ปั๊มจ่ายยาบาโคลเฟนอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยรายนี้
หลังจากที่ได้รับการคัดกรองแล้ว จะมีการวางแผนพบแพทย์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับผลการทดสอบ ทางเลือกการรักษา และเป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยต่อไป