การฝังเครื่องให้ยาระงับปวดผ่านช่องไขสันหลัง
การนำส่งยาผ่านช่องไขสันหลังด้วยเครื่องให้ยาระงับปวด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการบรรเทาอาการปวดจากโรคมะเร็ง และเป็นที่รู้จักในชื่อของ “ปั๊มให้ยาระงับปวดหรือ Pain Pump หรือ Intrathecal Morphine (ITM Pump)”
ปั๊มให้ยาระงับปวด (Intrathecal Morphine Pump)
เป็นการรักษาโดยการปล่อยยาเข้าไปยังช่องน้ำไขสันหลังโดยตรงด้วยปั๊มที่สามารถตั้งโปรแกรมได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถบรรเทาอาการปวดเรื้อรังรวมถึงอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีผลข้างเคียงน้อยและปริมาณยาที่ใช้รักษาน้อยกว่าการใช้ยาแบบรับประทาน
เครื่องให้ยาระงับปวด ประกอบด้วย 3 อุปกรณ์หลักดังนี้
- เครื่องปั๊มยาตั้งโปรแกรมอัตโนมัติ ที่สามารถจ่ายยาในปริมาณที่แพทย์กำหนดได้อย่างแม่นยำ
- ท่อนำยา ที่มีความบางและยืดหยุ่นที่ต่อเข้ากับปั๊มและช่วยในการจ่ายยา
- เครื่องตั้งโปรแกรมการทำงานของปั๊มสำหรับแพทย์ เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด
การนำส่งยาผ่านช่องไขสันหลังคืออะไร?
การนำส่งยาผ่านช่องไขสันหลัง
คือการนำส่งยาเข้าไปยังน้ำที่หล่อเลี้ยงรอบไขสันหลังโดยตรงด้วยตัวปั๊มที่สามารถตั้งโปรแกรมได้ สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ใน 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการฝังปั๊มให้ยาระงับปวดร่วมกับการบริหารยารูปแบบเดิม ซึ่งมีคะแนนความปวดน้อยกว่า 4 คะแนน มีจำนวนมากกว่าในกลุ่มที่ได้รับการบริหารยารูปแบบเดิมเพียงอย่างเดียว (ระดับความปวด 1-10 คะแนน ที่คะแนนระดับ 4 จัดว่าผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น)
- ผู้ป่วยที่ได้รับการฝังปั๊มให้ยาระงับปวดควบคู่กับการบริหารยาแบบเดิม พบว่า 85% มีคะแนนความปวดลดลงอย่างน้อย 20% หรือมีผลข้างเคียงลดลงอย่างใดอย่างหนึ่ง และ 58% มีคะแนนความปวดลดลงอย่างน้อย 20% และยังมีผลข้างเคียงลดลงด้วย
- ที่ 6 เดือน ผู้ป่วยที่ได้รับการติดตามผลการรักษาเทียบกับก่อนการรักษารายงานว่าอาการปวดและคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
- ที่ 4 สัปดาห์ 5% ของผู้ป่วยที่ได้รับการฝังปั๊มให้ยาระงับปวดสามารถหยุดใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์โดยการฉีดหรือกิน และ 92% ของผู้ป่วยนี้ยังคงหยุดใช้ยากลุ่มนี้ต่อเนื่องไปจนถึง 8 สัปดาห์
- การศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อนที่มีอาการปวดรุนแรง โดยมีคำจำกัดความของอาการปวดรุนแรงว่ามีคะแนนความปวด ตั้งแต่ 7 คะแนนขึ้นไป พบว่าภายหลังการฝังปั๊มให้ยาระงับปวด เปอร์เซ็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง ลดลง จาก 89.2% เหลือ 4.5% ใน 1 สัปดาห์ 6.7% ใน 1 เดือน และ 10.3% ใน 3 เดือน
*ไม่ควรใช้ข้อมูลนี้ทดแทนการปรึกษาแพทย์ ดังนั้น โปรดติดต่อปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อมูลการวินิจฉัยและการรักษาโรคทุกครั้ง